top of page

สี่ขาก็มี (โรค) หัวใจนะ

สี่ขาก็มี (โรค) หัวใจนะ

สี่ขาก็มี (โรค) หัวใจนะ


สัตว์เลี้ยงตัวไหนๆ ก็มีหัวใจ ดังนั้นเราจึงพบโอกาสการเกิดโรคหัวใจจากสาเหตุต่างๆได้ โรคหัวใจที่พบได้บ่อยในสุนัขและแมว คือ โรคหัวใจล้มเหลว ซึ่งสามารถแบ่งได้เป็น 2 แบบใหญ่ๆ คือ หัวใจฝั่งขวาล้มเหลว และหัวใจฝั่งซ้ายล้มเหลว ซึ่งอาจมีสาเหตุมาจากการที่ลิ้นหัวใจรั่วซึ่งมักพบในสุนัขพันธุ์เล็ก กล้ามเนื้อหัวใจเสื่อมเสียหายหรือขยายขนาดซึ่งมักพบในสุนัขพันธุ์ใหญ่ หลอดเลือดใหญ่ที่หัวใจจะสูบฉีดเลือดออกไปตีบ โรคพยาธิหนอนหัวใจ การมีช่องผิดปกติเชื่อมต่อระหว่างห้องหัวใจ เป็นต้น ทำให้หัวใจไม่สามารถบีบเลือดออกไปจากหัวใจได้เต็มที่ จึงมีเลือดคงค้างมากขึ้นในหัวใจ เลือดที่จะไหลกลับเข้ามายังหัวใจห้องนั้นๆจึงไหลมาได้ไม่สะดวก ทำให้เกิดการคั่งของเลือดในหลอดเลือดส่วนต่างๆตามมา (คล้ายกับมีการอุดตันของท่อระบายน้ำ) การคั่งของเลือดจะดันของเหลวจากหลอดเลือดนั้นออกสู่เนื้อเยื่อมากขึ้น

ในกรณีที่หัวใจฝั่งซ้ายล้มเหลวหลอดเลือดที่จะเกิดการคั่งของเลือดคือหลอดเลือดแดงจากปอดที่จะไหลเข้าสู่หัวใจฝั่งซ้าย ดังนั้นจะทำให้ปอดบวมน้ำ และอาจเกิดการอักเสบตามมา เราจึงพบอาการว่าสัตว์หายใจลำบาก หอบ ไอ เยื่อเมือกอาจมีสีม่วง เหนื่อยง่าย ซึมลง และกล้ามเนื้ออ่อนแรง นอกจากนี้การที่หัวใจฝั่งซ้ายสูบฉีดเลือดไปเลี้ยงร่างกายไม่เพียงพอ ทำให้อวัยวะต่างๆ ได้รับเลือดไม่เพียงพอ จึงพบปัญหาของหลายๆ ระบบตามมาได้ เช่น ไตวาย ตับเสื่อมเสียหาย การดูดซึมสารอาหารต่างๆ ลดลง สัตว์จะเบื่ออาหารและผอมลงเรื่อยๆ ถ้าอาการของโรครุนแรงมากขึ้นอาจเกิดหัวใจเต้นผิดจังหวะหรือหัวใจวาย สัตว์จะเกิดภาวะช็อก และเสียชีวิตอย่างฉับพลัน

ในกรณีที่หัวใจฝั่งขวาล้มเหลว หลอดเลือดที่จะเกิดการคั่งของเลือด คือหลอดเลือดดำจากส่วนต่างๆของร่างกายที่จะไหลเข้าสู่หัวใจฝั่งขวา ดังนั้นของเหลวจะไหลออกมาสู่เนื้อเยื่อบริเวณต่างๆ เช่นที่ตับจะทำให้เกิดอาการท้องมาน ตับโต ผิวหนังบวมน้ำ มีน้ำขังในถุงเยื่อหุ้มปอด ทำให้สัตว์หายใจลำบาก หอบ เยื่อเมือกมีสีม่วง และเหนื่อยง่าย ในรายที่มีอาการรุนแรงก็อาจช็อก และเสียชีวิตฉับพลันได้เช่นเดียวกัน

ส่วนในแมวนั้นยังมีอาการอีกอย่างที่สามารถพบได้บ่อยกว่าสุนัข นั่นคือการเกิดลิ่มเลือดอุดตันในหลอดเลือดเพราะการที่เลือดตกค้างอยู่ในหัวใจจากการที่หัวใจบีบตัวแย่ลงจะกระตุ้นให้เลือดเหล่านั้นจับตัวเป็นลิ่มเลือดขนาดเล็กและหลุดออกตามแรงบีบของหัวใจไปยังหลอดเลือดต่างๆได้ เช่นตามส่วนปลายของร่างกาย เช่น ขาหลัง ทำให้เนื้อเยื่อส่วนปลายเหล่านั้นขาดเลือด กล้ามเนื้ออ่อนแรง หรือเป็นอัมพาตได้

การตรวจวินิจฉัยจำเป็นต้องใช้ข้อมูลหลายอย่างประกอบกัน ทั้งจากการซักประวัติ การตรวจร่างกาย การตรวจทางห้องปฏิบัติการ และการตรวจวินิจฉัยพิเศษเพิ่มเติมต่างๆ เช่น การตรวจคลื่นไฟฟ้าของหัวใจ การเอ็กซ์เรย์ การทำการอัลตร้าซาวด์หัวใจ (Echocardiogram)

ส่วนการรักษามักเป็นการรักษาเพื่อลดอาการต่างๆ เนื่องจากโรคหัวใจมักเป็นโรคที่ไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้แต่จำเป็นต้องได้รับยาเพื่อบรรเทาอาการ และลดการทำงานของหัวใจที่มากเกินไปจากความผิดปกติในส่วนต่างๆ เพื่อชะลอความเสื่อมเสียหายของหัวใจ ยาที่ใช้มักได้แก่ ยาขับปัสสาวะ เพื่อลดปริมาณเลือดที่ไหลกลับสู่หัวใจเป็นการลดการทำงานของหัวใจที่มากผิดปกติ ลดน้ำที่จะออกไปจากหลอดเลือดไปยังส่วนต่างๆ และลดปริมาณน้ำที่ออกมาคั่งอยู่ตามเนื้อเยื่อ ยาขยายหลอดเลือด ซึ่งจะช่วยขยายหลอดเลือดเพื่อให้หัวใจสามารถบีบเลือดออกไปได้ง่าย ลดแรงดันที่จะทำให้ของเหลวไหลออกจากหลอดเลือด และลดปริมาณเลือดที่ไหลกลับสู่หัวใจ และยากลุ่มสุดท้ายที่นิยมให้ คือ ยาเพิ่มความแรงในการบีบตัวของกล้ามเนื้อหัวใจ ซึ่งจะช่วยให้หัวใจบีบตัวแรงขึ้นแต่เต้นช้าลง เป็นการเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของหัวใจ ส่วนเรื่องการดูแลมักจะเน้นเรื่องการทานยาอย่างต่อเนื่อง การให้สารอาหารที่ครบถ้วน การให้สัตว์ได้พักผ่อนอย่างสงบ หลีกเลี่ยงออกกำลังกายหักโหม ลดการกระตุ้นให้สัตว์ตื่นเต้นหรือเครียด การสังเกตและเฝ้าระวังอาการต่างๆ ของสัตว์ และควรพาสัตว์เลี้ยงของท่านมาพบสัตวแพทย์ตามเวลานัดเพื่อประเมินอาการและปรับการรักษาอย่างต่อเนื่อง หากท่านต้องการให้เด็กๆ ได้รับการตรวจวินิจฉัยหัวใจอย่างละเอียดสามารถสอบถามคิวนัดหมายได้ที่โรงพยาบาลเพื่อนสัตว์เลี้ยงศรีราชานะคะ

.


ด้วยความปรารถนาดีจาก Pet Friends Groups

· โรงพยาบาลเพื่อนสัตว์เลี้ยงศรีราชา (เปิดให้บริการทุกวันตลอด 24 ชั่วโมง) โทร. 089-2448865 หรือ Facebook “โรงพยาบาลเพื่อนสัตว์เลี้ยงศรีราชา-รักษาสัตว์ 24 ชั่วโมง”

· คลินิกเพื่อนสัตว์เลี้ยงศรีราชา (9.00-21.00 น.) โทร. 092-0124002 หรือ Facebook “คลินิกเพื่อนสัตว์เลี้ยงศรีราชา”

· คลินิกเพื่อนสัตว์เลี้ยงบางแสน (Pet Friends Bangsaen) (9.00-18.00 น.) โทร.038-199174, 098-7165698 หรือ Facebook “PetFriends Bangsaen”

· โรงพยาบาลสัตว์เพ็ทเฟรนด์ บ้านบึง (9.00-20.00 น.) โทร. 092-8325698 หรือ Facebook “โรงพยาบาลสัตว์เพ็ทเฟรนด์ บ้านบึง”

บทความสุขภาพโดย

หมอพร.jpg
bottom of page