หวัดแมว ไม่ใช่แค่เป็นหวัด
หวัดแมว ไม่ใช่แค่เป็นหวัด
หวัดแมวเป็นโรคที่พบได้บ่อยในช่วงที่อากาศมีการเปลี่ยนแปลง ซึ่งสาเหตุส่วนใหญ่เกิดจากเชื้อไวรัส ซึ่งเป็นไวรัสจําเพาะในแมวได้แก่ Feline Viral Rhinotracheitis Virus (FVRC) หรือ Feline Herpesvirus (FHV) และ Feline Calici Virus (FCV) และ Reovirus นอกจากนี้ยังอาจมีการติดเชื้ออื่นๆ ร่วมด้วย เช่น Bordetella หรือ Clamydia ซึ่งจะทําให้แมวแสดงอาการรุนแรงมากขึ้นโดยเฉพาะในลูกแมวและแมวที่อ่อนแอ
Feline Viral Rhinotracheitis (FVRV) หรือ Feline Herpesvirus (FHV) ไวรัสนี้จะพบได้บ่อยในกลุ่มแมวที่ไม่เคยได้รับการฉีดวัคซีน อัตราการติดโรคอาจสูงถึง 100% แม้ว่าโดยทั่วไปแล้วอัตราการตายจะไม่สูงมากแต่ว่ามีโอกาสที่จะสูงถึง 30% ได้ในลูกแมวที่เครียดหรือมีโรคอื่นแทรกซ้อน ระยะฟักตัวของโรคประมาณ 2-10 วัน แมวจะเริ่มมีอาการอักเสบที่ตา จมูก หลอดลมซึ่งทําให้แมวมีน้ำตาไหลมีน้ำมูกและเสมหะ ซึม หายใจลําบาก เป็นไข้ ไอจาม และเบื่ออาหาร ในกรณีที่มีเชื้อแบคทีเรียร่วมด้วยนั้นจะทําให้น้ำมูกข้นเหนียวจนเป็นหนองอาจพบแผลหลุมเป็นวงๆ บนลิ้นทําให้แมวเจ็บมากจนไม่อยากกินอาหาร อาการอาจรุนแรงมากถึงขั้นเกิดปอดบวมและเยื่อหุ้มปอดอักเสบและทําให้เสียชีวิตได้
Feline Calici Virus (FCV) ไวรัส FCV สามารถทำให้เกิดหวัดแมวที่รุนแรงในระดับเดียวกับ FVRV ก็ได้ หรือเป็นอ่อนๆ แค่น้ำมูกไหล ไอ จาม 2-3 วันก็ได้เช่นกัน สําหรับอาการที่เด่นชัดที่สุดคือแผลหลุมบนลิ้นซึ่งจะทําให้มีน้ำลายไหลยืดตลอดเวลาจนเจ้าของบางท่านคิดไปว่าแมวโดนยาเบื่อ ส่วนแผลในช่องปากจะทําให้แมวกินอาหารลําบาก อยากอาหารลดลงทําให้ทรุดลงเร็ว นอกจากนี้ FCV ไม่มีผลต่อตาและจมูก ทำให้แยกได้จาก FVRV
หากแมวมีการติดเชื้อร่วมกันของไวรัสทั้ง 2 ชนิดนี้จะยิ่งทําให้อาการของโรครุนแรงมากขึ้นอีก ส่วน Reovirus เป็นไวรัสชนิดที่ 3 ซึ่งสามารถทำให้เกิดหวัดแมวได้ แต่มีความรุนแรงของโรคต่ำกว่า 2 ชนิดที่กล่าวไป ส่วนมากเป็นเพียงหวัดธรรมดาเล็กๆ น้อยๆ ไม่ถึงกับทำให้เสียชีวิต
การติดต่อของหวัดแมว เกิดจากแมวได้รับการสูดดมเชื้อไวรัสที่กระจายในอากาศจากแมวที่ติดเชื้อ หรือมีการสัมผัสกับแมวที่ติดเชื้อโดยตรง ซึ่งพบได้บ่อยในบริเวณที่มีแมวอยู่รวมกันมาก ในกรณีที่แมวป่วยและหายจากโรคแล้วนั้นสามารถเป็นพาหะนําโรคได้ต่อไป
การดูแลแมวที่เป็นหวัด แนะนำให้พาแมวไปพบสัตวแพทย์เพื่อรับการวินิจฉัย ส่วนการรักษาทําได้โดยใช้ยาปฏิชีวนะป้องกันโรคแทรกซ้อนจากแบคทีเรีย รวมทั้งยาลดเสมหะ ซึ่งหากสภาพร่างกายของแมวทรุดโทรม ขาดน้ำ ขาดอาหาร ก็จะได้รับการทดแทนชดเชยผ่านสารอาหารเหลว เช่น ให้น้ำเกลือ วิตามิน ฯลฯ
การป้องกันหวัดแมว สิ่งที่ดีที่สุดคือหลีกเลี่ยงการนําแมวที่ยังไม่มีภูมิคุ้มกันโรคไปปะปนกับแมวภายนอก และการพาแมวไปฉีดวัคซีนป้องกันโรคได้ตั้งแต่อายุ 8 สัปดาห์ขึ้นไป และกระตุ้นซ้ำตามคำแนะนำของสัตวแพทย์
.
ด้วยความปรารถนาดีจาก Pet Friends Groups
· โรงพยาบาลเพื่อนสัตว์เลี้ยงศรีราชา (เปิดให้บริการทุกวันตลอด 24 ชั่วโมง) โทร. 089-2448865 หรือ Facebook “โรงพยาบาลเพื่อนสัตว์เลี้ยงศรีราชา-รักษาสัตว์ 24 ชั่วโมง”
· คลินิกเพื่อนสัตว์เลี้ยงบางแสน (Pet Friends Bangsaen) (9.00-18.00 น.) โทร.038-199174, 098-7165698 หรือ Facebook “PetFriends Bangsaen”
· โรงพยาบาลสัตว์เพ็ทเฟรนด์ บ้านบึง (9.00-20.00 น.) โทร. 092-8325698 หรือ Facebook “โรงพยาบาลสัตว์เพ็ทเฟรนด์ บ้านบึง”