top of page

การดูแลสุขภาพสัตว์เลี้ยงในช่วงปลายฝนต้นหนาว

การดูแลสุขภาพสัตว์เลี้ยงในช่วงปลายฝนต้นหนาว


การดูแลสุขภาพสัตว์เลี้ยงในช่วงปลายฝนต้นหนาว

  ช่วงนี้มีฝนตกบ่อยและเป็นช่วงปลายฝนต้นหนาวที่อากาศกำลังเปลี่ยนแปลง หลายคนเริ่มมีปัญหาเรื่องสุขภาพ เดี๋ยวเป็นหวัดเดี๋ยวเป็นไข้ ไม่สบายไปตามๆ กันซึ่งปัญหาสุขภาพนั้นก็ไม่เวันแม้ในสัตว์เลี้ยงของเรา พอสภาพแวดล้อมเปลี่ยน อากาศเปลี่ยน ฝนตก ความชื้นเพิ่มขึ้น บางทีร่างกายทั้งคนและสัตว์ก็ปรับตัวไม่ทัน พลอยจะป่วยไข้ได้ง่ายๆ ซึ่งการดูแลสุขภาพสัตว์เลี้ยงในช่วงปลายฝนต้นหนาวนี้จะแบ่งเป็นระบบต่างๆ เพื่อให้เข้าใจได้ง่ายขึ้นและเป็นเรื่องที่พบได้บ่อยในช่วงนี้ ได้แก่


  ระบบทางเดินอาหาร เป็นโรคที่มาพร้อมกับฝนไม่ว่าจะเป็นท้องเสีย อาหารเป็นพิษ หรือโรคที่ร้ายแรง เช่น โรคลำไส้อักเสบ และไข้หัดแมว ซึ่งพบได้ในสุนัขและแมวทุกช่วงอายุตามลำดับ ช่วงที่มีฝนจะความชื้นมากขึ้น เหมาะแก่การเจริญเติบโตของเชื้อโรค นอกจากการฉีดวัคซีนซึ่งต้องฉีดกันตามช่วงอายุในขวบปีแรกและกระตุ้นซ้ำประจำปีนั้น เจ้าของต้องดูแลเรื่องความสะอาดของอาหารและน้ำให้สัตว์เลี้ยงด้วย อาหารเม็ดควรจะสดใหม่ ไม่เก่าหรือขึ้นรา อาหารที่ปรุงเองควรจะสะอาด สุก และไม่ค้างคืนด้วย หากสัตว์เลี้ยงมีอาการผิดปกติ เช่น อาเจียน ท้องเสีย หรือซึม ควรรีบพาไปพบสัตวแพทย์โดยด่วน


  ระบบทางเดินหายใจ ช่วงปลายฝนต้นหนาวแบบนี้ โรคที่พบได้บ่อยก็จะเป็นพวกไข้หวัด หลอดลมอักเสบ ซึ่งบางทีก็จะมีโรคที่รุนแรงแถมมาด้วย เช่น ไข้หัดสุนัข หวัดแมว เป็นต้น เจ้าของไม่ควรปล่อยให้สัตว์เลี้ยงเล่นน้ำฝน อยู่หรือนอนตากฝน บางตัวชอบเล่นน้ำฝนอย่างสนุกสนาน พอวันต่อมาก็มีน้ำมูก ไข้ขึ้น ต้องลำบากเจ้าของพาไปหาหมอ ในช่วงนี้ควรให้เขาได้อยู่ในที่ที่อบอุ่น แห้งสะอาด และไม่อับชื้น บางครั้งถ้าอากาศเริ่มเย็นอาจจะต้องหาเสื้อให้ใส่ (ตัดเย็บเองหรือซื้อก็ได้) โดยควรใส่ให้ในช่วงกลางคืนหรือในช่วงที่ฝนตกแล้วอากาศเย็น ถ้าสังเกตว่าสัตว์เลี้ยงมีอาการไอ มีน้ำมูก หรือมีไข้ ควรจะพาไปพบสัตวแพทย์ ไม่ควรหายาให้ทานเอง เพราะสุนัขและแมวไม่เหมือนคนทั้งเรื่องขนาดการให้ยาและชนิดของยา และอาจแพ้ยาบางตัวแล้วเป็นอันตรายถึงชีวิตได้


 ระบบผิวหนัง หน้าฝนเป็นช่วงที่มีความชื้นสูง สภาวะอับชื้นก็เป็นตัวการสำคัญที่จะทำให้เกิดโรคผิวหนังได้ง่าย โดยอาจจะมีตุ่ม ผื่นคัน ส่วนในหน้าหนาว อากาศจะแห้ง ทำให้ผิวแห้งง่ายโดยอาจพบสะเก็ด รังแค อาการคันได้ หากมีการติดเชื้อร่วมด้วยไม่ว่าจะเป็นเชื้อแบคทีเรีย เชื้อรา เชื้อยีสต์ ก็จะทำให้เกิดผิวหนังอักเสบตามมาได้ โดยทั่วไปโรคผิวหนังที่พบในบ้านเรา ส่วนมากจะมาจากหลายสาเหตุร่วมกันซึ่งการรักษาควรพาสัตว์เลี้ยงของท่านไปพบสัตวแพทย์เพื่อทำการตรวจวินิจฉัยอาการที่ผิดปกติ ตรวจสภาพขนและผิวหนัง เนื่องจากโรคผิวหนังเป็นโรคที่ต้องตรวจที่ตัวสุนัขจจึงจะมีประโยชน์และตรงกับโรคมากที่สุด อย่างไรก็ตามเจ้าของควรหมั่นดูแลเรื่องผิวหนังและขนให้แห้งอยู่เสมอ อย่าปล่อยให้เปียกชื้น หากพบว่าสุนัขมีตุ่ม คัน เกา สะบัดหูบ่อยๆ ควรรีบพาไปพบสัตวแพทย์


  อีกเรื่องหนึ่งซึ่งสำคัญมากในการเลี้ยงสุนัขและแมวก็คือเรื่อง เห็บหมัด ในปีหนึ่งๆ พบว่าสุนัขและแมวที่มีอาการเจ็บป่วยเนื่องจากเห็บหมัดมีปริมาณที่มากเป็นอันดับต้นๆ เมื่อเทียบกับการเจ็บป่วยด้วยโรคอื่น เห็บเป็นทั้งพาหะนำโรค คือ พยาธิในเม็ดเลือดหรือไข้เห็บ และเห็บยังเป็นตัวที่ทำให้สัตว์อ่อนแอ โลหิตจาง การกำจัดเห็บหมัดถือเป็นเรื่องที่สำคัญมาก โดยเจ้าของควรมีความเข้าใจและทำการกำจัดอย่างต่อเนื่อง ปัจจุบันผลิตภัณฑ์ที่ใช้กำจัดเห็บหมัดมีหลายรูปแบบให้เลือก เช่น ยากิน ยาฉีด ยาอาบ ยาหยดหลัง หรือสเปรย์ ซึ่งเจ้าของควรทำความเข้าใจในการใช้ผลิตภัณฑ์ให้ถูกต้องโดยปรึกษาสัตวแพทย์ อย่างไรก็ตามในช่วงปลายฝนต้นหนาวนี้การดูแลสุขภาพเป็นเรื่องที่สำคัญที่สุดโดยเจ้าของควรดูแลสุขภาพของตนให้แข็งแรง เพราะถ้าคุณไม่สบายแล้ว ใครล่ะจะดูแลเจ้าตูบและเจ้าเหมียวของคุณ.......จริงไหมเอ่ย

.


ด้วยความปรารถนาดีจาก Pet Friends Groups

· โรงพยาบาลเพื่อนสัตว์เลี้ยงศรีราชา (เปิดให้บริการทุกวันตลอด 24 ชั่วโมง) โทร. 089-2448865 หรือ Facebook “โรงพยาบาลเพื่อนสัตว์เลี้ยงศรีราชา-รักษาสัตว์ 24 ชั่วโมง”

· คลินิกเพื่อนสัตว์เลี้ยงบางแสน (Pet Friends Bangsaen) (9.00-18.00 น.) โทร.038-199174, 098-7165698 หรือ Facebook “PetFriends Bangsaen”

· โรงพยาบาลสัตว์เพ็ทเฟรนด์ บ้านบึง (9.00-20.00 น.) โทร. 092-8325698 หรือ Facebook “โรงพยาบาลสัตว์เพ็ทเฟรนด์ บ้านบึง”

บทความสุขภาพโดย

หมอพร.jpg
bottom of page